วันเสาร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2551

เครื่องจักสานย่านลิเภา ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง นครศรีธรรมราช

ความเป็นมาและการผลิต
ศึกษากรณีเครื่องจักสานย่านลิเพา ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
สิ่งที่เราร่วมกันสมมติเรียกมันว่า “ภูมิปัญญา” นั้น โดยธรรมชาติของมันจะมีองค์ประกอบหลัก 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่เป็น “กระบวนการ” (มรรค หรือ means) ที่ก่อให้เกิดภูมิปัญญา และส่วนที่เป็น “เนื้อหาสาระ” (ผล หรือ ends) ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงเรื่องภูมิปัญญา คำถามแรกที่ควรถามตัวเองคือ เราควรสนใจและให้ความสำคัญต่อภูมิปัญญาในส่วนที่เป็น “กระบวนการ” หรือส่วนที่เป็น “เนื้อหา” มากกว่ากัน การแลเห็นกระบวนการหรือกระแสการปฏิสนธิของภูมิปัญญาย่อมเห็นส่วนที่เป็นวิถีและพลังของความมีและความเป็นภูมิปัญญา แต่การมองเห็นเนื้อหาของภูมิปัญญาเป็นการเห็นในเชิงกายภาพ เห็นรูปลักษณ์ของผลผลิต แต่ถึงกระนั้นผลผลิตจากกระบวนการแห่งภูมิปัญญาก็ยังน่าพิสมัยกว่าผลผลิตจากเครื่องจักรหรือเครื่องพิมพ์แบบตามระบบอุตสาหกรรม เพราะผลผลิตจากภูมิปัญญายังมีอัตลักษณ์เฉพาะชิ้นต่างกันไปตามระดับจิตวิญญาณและน้ำมือของผู้ปั้นแต่งที่ไม่เป็นการถอดแบบเดิมแม้แต่เพียงชิ้นเดียว เพราะโครงสร้างและกระบวนการปฏิสนธิทางภูมิปัญญาแตกต่างกับโครงสร้างและกระบวนการทางอุตสาหกรรมโดยสิ้นเชิง และอันนั้นคือ ข้อดีและเสน่ห์ของภูมิปัญญา ไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญาของไทยหรือของเทศ ไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญายุคกรรไตรหัวหงส์หรือยุคโลกาภิวัฒน์
กระบวนการปฏิสนธิของภูมิปัญญาไม่ว่าจะเกิดจากความสามารถพิศษของผู้มีสติปัญญาสูงหรือเกิดจากการลองผิดลองถูกของคนสามัญ หรือได้ประจักษ์ด้วยเหตุบังเอิญก็ตาม ล้วนต้องอาศัยปัจจัยหรือสภาพเก่า อาศัยความรู้และภูมิปัญญาเก่าเป็นตัวหล่อเลี้ยงและเชื่อมต่อ (สนธิ) และ/หรือเป็นทางข้าม (มรรค) ดังนั้น สภาพอันเป็นพื้นภูมิเดิมซึ่งประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยหรือฐานราก ทำให้เห็นข้อจำกัดที่กำลังเผชิญอยู่และต้องเผชิญต่อ ๆ ไป และเห็นอาการป่วยของสังคมเดิม เห็นสิ่งที่ที่ต้องหลีกเลี่ยงเยียวยา และแลกเห็นความจำเป็นที่จะต้องเสาะหา ภูมิปัญญาใหม่ หายาตัวใหม่มาเยียวยาอาการเจ็บป่วยเหล่านั้นให้บรรเทาหรือหมดไป การสร้างภูมิปัญญาจึงเป็นเสมือนการหาหนทางข้ามวังวนแห่งความทุกข์ยาก โดยที่ตนยังพึงใจที่จะว่ายวนอยู่ในพื้นภูมิเดิม ซึ่งต่างกับกระบวนการหาทางเข้ามชาติของพระอริยบุคคลที่ต้องการหาทางข้ามชาติโดยปล่อยวางชาติและภพเดิม ไปสู่ชาติใหม่และภพใหม่ด้วย เหตุนี้ภูมิปัญญาของชาวบ้านจึงเป็นการปรับเปลี่ยนบ้านเดิมให้สามารถอยู่ได้และอยู่ดียิ่ง ๆ ขึ้นไม่ใช่ทิ้งบ้านเก่าไปหาบ้านใหม่
เป็นที่รู้เห็นกันได้ทั่วไปว่า ยาวิเศษที่ปราชญ์ชาวบ้านเสาระหาเป็นองค์ความรู้ใหม่หรือภูมิปัญญาใหม่จะอยู่บนฐานประโชน์ของมหาชนมากกว่าฐานประโยชน์ของปัจเจกชนและคุณสมบัติของยาวิเศษที่ได้ชื่อว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้น จำแนกได้เป็น 2 สรรพคุณ ได้แก่ “เครื่องยาไส้” และ “เครื่องยาใจ”
ภูมิปัญญาประเภทที่เป็นเครื่องยาไส้ เป็นภูมิปัญญาเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ทรัพยากรธรรมชาติหรือความหลากหลายทางชีวภาพหรือทางกายภาพอันเป็นฐานทางเศรษฐกิจหรือเศรษฐทรัพย์ ส่วนภูมิปัญญาที่เป็นประเภทเครื่องยาใจหรือสมานใจ เป็นภูมิปัญญาประเภทช่วยปรุงแต่งคุณค่าด้านจิตวิญญาณของความเป็นคน เป็นภูมิปัญญาที่ค่อนข้างสลับซับซ้อนและงอกงามเป็นทุนทางวัฒนธรรมของสังคมนั้น ๆ ภูมิปัญญาประเภทยาไส้และประเภทยาใจต่างก็มีความสำคัญด้วยกันแต่ไม่เสมอกัน ต้องมีจุดศูนย์ถ่วงที่ต่างกันตามแต่กาละเทศะ สภาพของชุมชนและแล้วแต่ละเรื่อง ๆ ไป เช่น ชุมชนปฐมฐานจำเป็นต้องเร่งเสาะสร้างภูมิปัญญาประเภทยาไส้เป็นสำคัญและต้องรีบขยายผลเป็น “เครื่องยาแผล” ทางกายภาพทุกองคาพยพ เป็นภูมิปัญญาที่ต้องผ่านการลองผิดลองถูก การพิสูจน์ซ้ำ การปฏิบัติซ้ำ จนกว่าจะได้ข้อสรุปเป็นสมมติฐานและทดลองกันต่อไป อาจหลายชั่วอายุคน เช่น การค้นพบคัมภีร์ “ขันธวิภังคินี” อันเป็นตำราทางสรีรศาสตร์สัมพันธ์กับกายภาพและทฤษฎีธาตุสี่ และทฤษฎีอายุรศาสตร์ของการแพทย์แผนโบราณ และแผนปัจจุบัน ภูมิปัญญาประเภทยาไส้ย่อมคลุมถึงบทบาทหน้าที่เยียวยาอาการป่วยไข้อันเนื่องจากต้องรู้จักคุมร้อนคุมหนาว กันลมกันแดด กันฝน สร้างความอบอุ่นสมดุลแก่ร่างกายจนเกิดเป็นภูมิปัญญาด้านเครื่องนุ่งห่มและที่อยู่อาศัย จนกระทั่งเลยไปถึงให้มีรูปดีรูปงามอันเป็นภูมิปัญญาการใช้เครื่องประดับ ปิลันธนาการศัสตราวุธและศัสตราภรณ์ เป็นต้น ส่วนภูมิปัญญาประเภทเครื่องยาใจ เป็นยาแก้โรค “หฤทัยทุกข์” และยาบำรุงจิตวิญญาณ มีโครงสร้างเป็นเชิงซ้อน เพราะมีตัวแปรและตัวแทรกซ้อนมากมาย เช่น จริต อุดมคติ อวิชา จารีต อคติ อารมณ์ ฯลฯภูมิปัญญาประเภทเครื่องยาใจจึงมักผนวกด้วยคุณธรรมและ จริยธรรม เพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลกับธรรมชาติและสภาพแวดล้อมและกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นภูมิปัญญาแห่งความเอื้ออาทรต่อสำนึกส่วนรวมมากกว่าสำนึกส่วนตน โดยอาศัยปรัชญาที่ว่า ความอยู่ได้อยู่ดีของปัจเจกชน ย่อมเกิดจากกความอยู่ได้อยู่ดีของโลก ส่วนความอยู่เด่นของปัจเจกชนคือความหายนะของโลก ความสมดุลอันเนื่องด้วยภูมิปัญญา



เครื่องจักสานย่านลิเพา จัดว่าเป็นงานฝีมือชั้นเยี่ยมของชาวภาคใต้ โดยเฉพาะที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ถือเป็นแหล่งที่มีชื่อเสียงในงานหัตถกรรมชนิดนี้มากที่สุด โดยสันนิษฐานว่าเริ่มทำกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านตั้งแต่สมัยเจ้าพระยานครศรีธรรมราช กล่าวกันว่า เจ้าเมืองนครได้เคยนำถวายเจ้านายในกรุงเทพมหานคร แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก จนกระทั่ง ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ครั้งที่ดำรงตำแหน่งพระยาสุขุมนัย วิปัตสมุนเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชได้ฟื้นฟูส่งเสริมจนงานจักสานย่านลิเภาเริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่ชนชั้นสูงในกรุงเทพมหานคร
ต่อมา ได้มีการฟื้นฟูครั้งสำคัญอีก 2 ครั้ง ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการประกวดการสานย่านลิเพา และใน พ.ศ. 2513 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำริให้สอนการสานย่านลิเพาในโครงการศิลปาชีพ มีการพัฒนารูปแบบได้อย่างสวยงามประณีตเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางทั้งระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และทั่วประเทศ ภาชนะที่ชาวนครโบราณทำด้วยย่านลิเพานั้น มีตั้งแต่กระเซอ กุมหมาก กล่องยาเส้น พานเชี่ยนหมาก ปั้นชา กล่อง ขันดอกไม้ธูปเทียน และเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน
ปัจจุบันงานจักสานย่านลิเพา นับเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่เป็นเอกลักษณ์อันเชิดหน้าชูตาของชาวนครไม่น้อยไปกว่างานหัตถกรรมลือชื่อแขนงอื่น ๆ ไม่ว่าเครื่องถม การแกะหนังตะลุง หรือผ้ายก งานจักสานย่านลิเพาะในปัจจุบันนี้มิใช่ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้สอยประจำวันดังเช่นในสมัยก่อนเสียแล้ว แต่ได้เปลี่ยนบทบาทมาเป็นของสวยงามที่มีค่าส่ำหรับเป็นของฝากหรือของที่ระลึกที่ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจแก่ผู้เป็นเจ้าของอย่างยิ่ง
ย่านลิเพา เป็นพืชพันธุ์ไม้เถาจำพวกเฟิร์น ลักษณะต้นเป็นพุ่ม มีเถาเลื้อยเกาะไปตามต้นไม้อื่น ใบสีเขียวชอบขึ้นในที่ลุ่มหรือตามเชิงเขาที่มีน้ำขัง และอากาศชื้น พบมากในภาคใต้ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และนราธิวาส
ผลิตภัณฑ์ย่านลิเพาเป็นงานหัตถกรรมเครื่องจักสานพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์พิเศษของภาคใต้สืบทอดจากบรรพบุรุษหลายร้อยปีมาแล้ว ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่าผลิตภัณฑ์ย่านลิเพาเป็ฯที่นิยมทำกันมากในสำนักของเจ้าพระยาเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งครั้งหนึ่งเคยนำเข้าถวายเจ้านายในกรุงเทพมหานคร
ปัจจุบัน มีการนำย่านลิเพามาทำเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ เหมาะสมที่จะใช้งานตามยุคสมัย เพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวัน เช่น กระเป๋า และเครื่องใช้ต่าง ๆ มีการพัฒนารูปแบบทำเป็นกระเป๋าถือเหลี่ยมทองหรือประกอบถมเงินหรือถมทอง จนกลายเป็นสินค้าหัตถกรรมที่เชิดหน้าชูตาอย่างหนึ่งของชาวนครศรีธรรมราช

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1. ศึกษาความเป็นมาในการจัดตั้งกลุ่มจักสานย่านลิเพา หมู่ 4, 5 และ 6 ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
2. ศึกษากระบวนการจักสานย่านลิเพาในด้านวัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ รูปแบบ กระบวนการผลิต และจำหน่าย
3. ศึกษาวิธีการถ่ายทอดการทำเครื่องจักสานย่านลิเพา
4. ศึกษาแนวทางในการดำรงรักษาและสืบทอดการจักสานย่านลิเพาสู่รุ่นต่อไป

ขอบเขตการวิจัย
การวิจัยนี้เป็นการศึกษากลุ่มจักสานย่านลิเพาของหมู่ 4, 5 และ 6 ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

วิธีดำเนินการวิจัย
1. ศึกษาเอกสารเกี่ยวกับความเป็นมากลุ่มจักสานย่านลิเพา หมู่ 4, 5 และ 6 ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
2. สำรวจกลุ่มจักสานย่านลิเพา หมู่ 4, 5 และ 6 ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
3. สัมภาษณ์กลุ่มจักสานย่านลิเพา
4. บันทึกภาพรูปแบบผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานย่านลิเพา

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. ได้ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมา บทบาทของการรวมกลุ่ม ตลอดจนผลงานของกลุ่ม จักสานย่านลิเพา
2. ให้บุคคลรุ่นใหม่มีโอกาสศึกษาเพื่อร่วมกันสืบทอดและดำรงไว้ซึ่งชุมชนพึ่งตนเองเป็นชุมชนเข้มแข็งต่อไป
3. ได้ข้อเสนอแนะแนวทางในการอนุรักษ์ สืบทอด ตลอดจนการพัฒนากลุ่มให้เข้มแข็ง ยิ่งขึ้น

นิยามศัพท์เฉพาะ
1. ศูนย์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน
2. ผลิตภัณฑ์ย่านลิเพา
3. กลุ่มจักสานย่านลิเพา
4. ผลิตภัณฑ์หัตกรรม

เอกสารและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง

แนวความคิดการอธิบายการจัดการตนเอง ครัวเรือนและชุมชนของประชาชนเป็นลักษณะที่ต่างจากการจัดการสังคมยุคหลังสมัยใหม่ที่มีลักษณะเฉพาะของกระบวนการจัดการตนเอง โดยมีสาระสำคัญคือ พยายามค้นหาจากประสบการณ์อดีตของแต่ละชุมชนขึ้นมาปรับปรุงหรือพัฒนาขึ้นมาใหม่ ซึ่งพบลักษณะการจัดการเหล่านั้นที่เคยมีและบรรพชนในอดีตเคยใช้อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมโลกตะวันออก คือ การรวมหมู่ การช่วยเหลือเกื้อกูล กระบวนการจัดการทางสังคมอย่างหนึ่งว่าต้องใช้ “การประนีประนอม” ซึ่งมาจากความไว้วางใจกันและกัน ทั้งนี้ เพราะทุกคนรู้สึกว่ามีศักดิ์ศรี มีตำแหน่งแห่งที่ในชุมชนชัดเจน ดังนั้น การจัดการทางสังคมในอดีตที่มีพลังและกำลังถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่ จึงมีคุณลักษณะที่น่าสนใจ ประกอบด้วย ความไว้วางใจระหว่างกัน (Turst) ในขณะที่องค์กร (Organizing) ก็เป็นประเด็นที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งด้วยเช่นเดียวกับผู้นำ (Elite) และการเชื่อมโยงเครือข่าย (networks) ตลอดจนการระดม การเกณฑ์ (Mobilizing) มวลชนหรือประชานได้บนพื้นฐานความสมัครใจและความเห็นคล้องจองสัมพันธ์กันที่แสดงออกในเชิงการสนับสนุน เมื่อเป็นเช่นนี้การจัดการทางสังคมในบริบทปัจจุบัน ที่เป็นผลิตผลของอดีตย่อมใหม่และไร้ระบบที่แน่นอน ซึ่งหมายถึงแตกต่างจากรูปแบบการจัดการตามแนวทางแห่งบุคสมัยใหม่ภายใต้วิทยาศาสตร์นิยม ตามกระแสหลักของโลกตะวันตก ที่มีบรรยากาศของระบบการผลิตแบบเพื่อการค้า และการเมืองแบบประชาธิปไตยที่มีตัวแทน แนวความคิดนั้นพยายามศึกษาค้นหาวิธีการที่ดีที่สุด เพื่อการจัดการให้เกิดประสิทธิภาพและกำไรสูงสุด ลักษณะร่วม คือ มีการแบ่งแยกกันทำงาน จึงเกิดบรรยากาศการแข่งขัน เพื่อเร่งผลิตผลและการได้กำไรซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายหลัก และมีระบบการบังคับบัญชาที่ใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ทางกฎหมายมาบังคับ โดยการจัดการเป็นบทบาทของผู้นำผ่านขั้นตอนการวางแผน การจัดองค์กร การประสานงาน การใช้งบประมาณ การติดตามผล แต่การจัดการทางสังคม ตนเอง ครัวเรือน และชุมชนที่ถือว่าเป็นแนวทางตามวัฒนธรรมชุมชนอันเป็นภูมิปัญญาของโลกตะวันออก ถือเป้าหมายหลักคือ สังคมดีที่คนดี หรือการสร้างคนดี ภายใต้โครงสร้างดี และรับอานิสงส์ ประโยชน์ร่วมกันการจัดการในบริบทใหม่นี้ให้ความสำคัญต่อบริบทภายนอกซึ่งมีพลังและมีอิทธิพลต่อการบรรลุเป้าหมายเช่นเดียวกัน เงื่อนไขภายในจึงเข้าลักษณะการบูรณาการทางสังคม (Social Integration) มียุทธวิธีที่แตกต่างกันออกไปกล่าวคือ การจัดการทางชุมชนเน้นให้คุณค่าภายในและคุณค่าภายนอกหรือปัจจัยภายในและภายนอก โดยมีประเด็นและคุณลักษณะที่สำคัญ ดังนี้
1. การสร้างความไว้วางใจ (Trust) มาจากความเชื่อและศรัทธา ตลอดจนประสบการณ์ในอดีตที่ผ่าน ๆ มา เป็นบรรยากาศของสมาชิก ของทุกคนที่ต้องสร้างให้กับตนเอง จนนำไปสู่การเชื่อใจคนมากกว่าพันธสัญญาแบบลายลักษณ์อักษร ดังนั้นหากเชื่อใจ ไว้ใจแล้วจะวางใจในที่สุด โดยไม่สงสัยหรือคลางแคลงใจ
2. การระดม (Mobilizing) นับว่าเป็นความจำเป็นทั้งการระดมความเป็นสมาชิก การระดมพลังเพื่อการเคลื่อนไหว โดยคุณสมบัติที่สำคัญ คือ มีศิลปะในการโน้มน้าว ชักจูง และสร้างหรือกระตุ้นให้สมาชิกในองค์กรตระหนักถึงประโยชน์ของกลุ่ม หรือสร้างบรรยากาศให้เกิดการร่วมมือกัน สร้างสาธารณประโยชน์ นำไปสู่การมีทีมงานหรือสรรหาสมัครพรรคพวก หรือพวกพร้อง ตรงตามทัศนะการจัดการยุคใหม่ คือการจัดองค์กรนั้นเอง
3. ผู้นำในชุมชน (Elite) เป็นผู้นำที่อาธุระต่อส่วนรวมหรือมีจิตสาธารณะ มีคุณสมบัติที่สำคัญ พลังที่มีอยู่ในตัวบุคคลนั้นคือ อำนาจมาจากบารมี มากกว่าอำนาจหน้าที่ ที่เป็นเหมือนสายโลหิตหล่อเลี้ยงชุมชน โดยมีพฤติกรรมการอยู่ร่วมกัน หรือความสัมพันธ์ภายในแบบเป็นแนวดิ่ง แต่มิใช่ปรากฎการณ์ของความสัมพันธ์แบบสายบังคับบัญชา
ในขณะที่การจัดการชุมชนให้ความสำคัญกับปัจจัยภายในอกคุณลักษณะที่สำคัญ พบว่า การเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย (Network) เพื่อสร้างความร่วมมือ ร่วมพลัง หรือในการต่อสู้กับความขัดแย้งและข้อจำกัดต่าง ๆ พร้อมกันนี้เครือข่ายจึงมีนัยยะของการสร้างพันธมิตรในการช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างกัน

ความหมายของวิสาหกิจชุมชน
วิสาหกิจชุมชน คือการประกอบการขนาดเล็ก ๆ เพื่อการจัดการ “ทุน” ของชุมชนในชุมชนโดยชุมชน และเพื่อชุมชน ทั้งนี้โดยใช้ความรู้ภูมิปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ของชุมชนผสมผสานกับความรู้สากล
วิสาหกิจชุมชน เป็นการรวมกลุ่มกันทำงานโดยคนในชุมชน จำนวนระหว่าง 5 – 15 คน เรียกว่า ขนาดจิ๋วและ 15 คนขึ้นไป เรียกว่า ขนาดเล็ก
วิสาหกิจชุมชน เป็นวิธีคิดใหม่ ที่เกิดจากการเรียนรู้ที่ชุมชนได้ค้นพบ “ทุน” ที่แท้จริงของตนเองและเป็นวิธีการใหม่ให้เกิดมูลค่าและพึ่งพาตนเองได้
ถ้าหากเปรียบเทียบวิสาหกิจชุมชนกับสหกรณ์ อาจจะเปรียบสหกรณ์กับรถเมล์ ขสมก. และวิสาหกิจชุมชนกับรถตู้รถแท็กซี่ ซึ่งมีขนาดเล็กคล่องตัว เข้าตรอกเข้าซอยได้ ทำอย่างไรให้รถตู้รถแท็กซี่มีกฎหมายรองรับ ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากรัฐและเอกชนอย่างเป็นระบบ

วิสาหกิจชุมชน ฐานเศรษฐกิจของสังคม
สังคมที่มีฐานเศรษฐกิจชุมชนที่มั่นคงย่อมมีความเข้มแข็ง ประเทศที่พัฒนาแล้วมีลักษณะเศรษฐกิจเหมือนสามเหลี่ยมที่มีฐานอยู่บนวิสาหกิจชุมชน (SMCE) และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 80 – 90 ของเศรษฐกิจของประเทศ
ด้วยฐานเศรษฐกิจเช่นนี้ทำให้ฐานการบริโภคในประเทศเป็นฐานที่ใหญ่และมั่นคง ประเทศที่พัฒนาแล้วจึงผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศมากกว่าการส่งออก

วิสาหกิจชุมชนประเภทต่าง ๆ
เพื่อเข้าใจลักษณะต่าง ๆ ของวิสาหกิจชุมชน อาจใช้กรอบแนวดิ่งและแนวนอนดังนี้ แนวดิ่งคือ “ระดับและขั้นตอนการพัฒนา” ซึ่งได้แก่
ระดับครอบครัว คือ วิสาหกิจแบบพึ่งตนเอง
ระดับชุมชนและเครือข่าย คือ วิสาหกิจแบบพอเพียง
ระดับธุรกิจ คือ วิสาหกิจแบบความก้าวหน้า
ส่วนแนวนอนอันดับแรกนั้น คือ วิสาหกิจที่ผลิตเพื่อ “ทดแทนการพึ่งภายนอก” “พัฒนาผลผลิตและทรัพยากร” และ “บริการ”
ที่สำคัญที่สุดคือ “แผนแม่บทชุมชน” ถ้าหากไม่มีแผนแม่บทชุมชน วิสาหกิจชุมชนก็จะไม่มีฐาน ไม่มีกรอบ ไม่มีข้อมูล ไม่มีความรู้ จะมีแต่ความรู้สึก ความอยากเป็นหลักและจะมีแต่การเลียนแบบ โดยไม่มีความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง

องค์ประกอบวิสาหกิจชุมชน
องค์ประกอบหลัก ๆ ของวิสาหกิจชุมชน มีอยู่ 7 ประการ คือ
1. ชุมชนเป็นเจ้าของและเป็นผู้ดำเนินการเอง อย่างไรก็ดี “คนนอก” อาจจะมีส่วนร่วม อาจจะถือหุ้นได้เพื่อการมีส่วนร่วมมือ และให้ความช่วยเหลือ แต่ไม่ใช่หุ้นใหญ่ ทำให้มีอำนาจในการตัดสินใจ
2. ผลผลิตมาจากกระบวนการในชุมชน ซึ่งอาจจะนำวัตถุดิบบางส่วนมาจากภายนอกได้ แต่เน้นการให้ทรัพยากรในท้องถิ่นให้มากที่สุด
3. ริเริ่มสร้างสรรค์โดยชุมชน เพื่อการพัฒนาศักยภาพของชุมชนเอง ซึ่งมีความรู้ภูมิปัญญาหากมีกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสม เกิดมีความเชื่อมั่นในตัวเองก็จะริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้โดยไม่เอาแต่เลียนแบบหรือแสวงหาสูตรสำเร็จ
4. ฐานภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นฐาน “ทุน” ที่สำคัญเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยปรับประยุกต์ให้สบสมัย ผสมผสานกับความรู้ภูมิปัญญาสากลหรือจากที่อื่น
5. ดำเนินการแบบบูรณาการ ไม่ใช่ทำแบบ “โครงการเดี่ยว” คล้ายกับ “การปลูกพืชเดี่ยว” แต่เป็นการทำแบบ “วนเกษตร” คือมีหลาย ๆ กิจกรรม ประสาน ผนึกพลัง และเกื้อกูลกัน
6. การเรียนรู้ คือ หัวใจของกระบวนการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน หากไม่มีการเรียนรู้ก็จะมีแต่การเลียนแบบ การหาสูตรสำเร็จโดยไม่มีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ หากไม่มีการเรียนรู้ก็จะไม่มีวิสาหกิจชุมชนบนฐานความรู้ แต่บนฐานความรู้สึก ความอยาก ความต้องการตามที่สื่อในสังคม บ้าบริโภคกระตุ้นให้เกิด ทำให้ความอยากกลายเป็นความจำเป็นสำหรับชีวิตไปหมด
7. การพึ่งตนเอง คือ เป้าหมายอันดับแรกและสำคัญที่สุดของวิสาหกิจชุมชน ถ้าหากพลาดเป้าหมายนี้คือพลาดเป้า วิสาหกิจชุมชน จะกลายเป็นธุรกิจที่มีเป้าหมายที่กำไร กลายเป็นอะไรที่ตระตุ้นให้ทำให้ได้กำไรก่อนที่จะคิดทำให้รอด ไม่พัฒนาไปเป็นขั้นตอนให้เกิดความมั่นคงก่อนที่จะก้าวไปพัฒนาธุรกิจ
ภาพรวมการพัฒนาในระยะ 4 ทศวรรษที่ผ่านมา เป็นบทเรียนที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการพัฒนาที่ขาดสมดุลโดยประสบความสำเร็จเฉพาะในเชิงปริมาณแต่ขาดความสมดุลด้านคุณภาพทั้งนี้การพัฒนาที่ผ่านมาได้มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานราคาถูก มีการระดมเงินทุนจากต่างประเทศมาลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุน โดยการพัฒนาด้านมิติของคนและการปรับโครงสร้างของระบบต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวคน ทั้งในด้านระบบเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนระบบการบริหารจัดการที่ดี ยังอยู่ในสภาพตั้งรับและไม่สามารถตามแก้ไขปัญหาได้ทันการ เป็นข้อจำกัดต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย และการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว รวมทั้งไม่สามารถสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศได้ ปัญหาเชิงโครงสร้างเช่นนี้ได้สะท้อนให้เห็นชัดเจน เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยส่งผลกระทบมากที่สุดต่อคนยากจนที่ต้องตกอยู่ในฐานะยากจนมากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตด้อยลงกว่าเดิม ประกอบกับกระแสโลกาภิวัฒน์จากภายนอกที่มุ่งสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ละสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภายในประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศระยะต่อไป
ข้อจำกัดในการพัฒนา จากการประเมินสถานการณ์ที่ผ่านมา พบว่า “จุดอ่อน” ของการพัฒนาที่สำคัญ คือ ระบบบริหารทางเศรษฐกิจ การเมือง และราชการยังเป็นการรวมศูนย์อำนาจและขาดประสิทธิภาพ ระบบกฎหมายล่าสมัยและปรับไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม นำไปสู่ปัญหาเรื้อรังของประเทศ คือ การทุจริตประพฤติมิชอบที่เกิดขึ้นทั้งในภาคราชการทุกระดับ และในภาคธุรกิจเอกชน ขณะเดียวกันปัจจัยชี้ขาดของการพัฒนาคือคุณภาพการศึกษาของคนไทยอยู่ในภาวะถดถอย ไม่สามารถปรับตัวรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกและวิทยาการสมัยใหม่ ประกอบกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังขาดคุณภาพ ฐานการผลิตหลักและฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยอ่อนแอ และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจไม่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม จึงส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาที่ผ่านมา ยังนำไปสู่ปัญหาพื้นฐานที่สำคัญคือ ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ และความยากจน และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่รุนแรงขึ้นและสร้างความขัดแย้งในสังคมมากขึ้น นอกจากนี้ความอ่อนแอของสังคมไทยที่ตกอยู่ในกระแสวัตถุนิยม ขาดการกลั่นกรองและเลือกใช้วัฒนธรรมต่างประเทศอย่างเหมาะสม ได้ก่อให้เกิดปัญหาทางศีลธรรมและปัญหาสังคมมากขึ้นด้วย
โอกาสในการพัฒนาที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดทุนทางสังคมและทางเศรษฐกิจหลายประการ ซึ่งเป็น “จุดแข็ง” ของประเทศที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนา กล่าวคือ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้วางพื้นฐานให้เกิดการปฏิรูปที่สำคัญทั้งทางสังคม การเมือง การบริหารภาครัฐและการกระจายอำนาจ ขณะที่กระบวนการส่วนร่วมของประชาชนและพลังท้องถิ่นชุมชน มีความเข้มแข็งมากขึ้น สื่อต่าง ๆ มีเสรีภาพมากขึ้น เอื้อต่อการเติบโตของประชาธิปไตย
หลังจากพัฒนาประเทศตามแนวตะวันตกมา 40 ปีแล้ว ประเทศไทยยังคงเผชิญกับปัญหาที่ไม่พึงประสงค์ที่สำคัญหลายประการ อาทิ
*ปัญหาความยากจน การว่างงาน และการกระจายรายได้
*ปัญหาการพึ่งพาเงินทุน ทุน และเทคโนโลยีจากต่างชาติ
*ปัญหาการใช้ทรัพยากรและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
*ปัญหาความอ่อนแอของสังคม การตกอยู่ใต้กระแสวัตถุนิยม สืบเนื่องไปเป็นปัญหาศีลธรรมและปัญหาสังคมต่าง ๆ
การพัฒนาที่ยั่งยืน คือ กระบวนการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน มีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดหรือขจัดปัญหาความยากจน การว่างงาน การกระจารายได้ พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสวัสดิการของสังคมไปในทางที่ดีขึ้น โดยใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็นและต้องตระหนักถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสงวนทรัพยากรไว้ตอบสนองความจำเป็นของคนรุ่นต่อไปในอนาคต
เศรษฐกิจชุมชน คือการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั้งด้านเกษตรกรรมอุตสากรรมบริการ ทั้งในด้าน การผลิต การบริโภค และการกระจายผลผลิต โดยให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจของชุมชน คือ ให้มีส่วนร่วมคิด (What?) ร่วมทำ (How?) ร่วมรับผลประโยชน์ (For Whom?) บนรากฐานของความสามารถที่มีอยู่จากการใช้ ทุนของชุมชนทั้งที่เป็นสินค้าทุน (เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์การผลิตต่าง ๆ ฯลฯ ที่มีอยู่หรือสามารถจัดหามาได้ตามศักยภาพ) ทุนทางเศรษฐกิจ (ปัจจัยที่สนับสนุนให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างสะดวกราบรื่น เช่น ที่ดิน แหล่งน้ำ สภาพภูมิประเทศ การคมนาคมขนส่ง เป็นต้น) และทุนทางสังคม (วิถีการผลิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศาสนสถาน โรงเรียน สถานีอนามัย ฯลฯ)
นอกจากนี้การมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนยังมีจุดแข็งที่เอื้ออำนวยต่อการประสบความสำเร็จก็คือ
*คนในท้องถิ่นในชุมชนเดียวกันมีจิตสำนึกร่วมกัน มีความเป็นมาและดำรงอยู่ด้วยกัน
*การมีความเอื้ออารีย์ มีความช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างกัน ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของสังคมท้องถิ่นอยู่แล้ว
*การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ระหว่างกลุ่มด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับหรือสั่งการ
*เป็นการพัฒนาที่เริ่มจากการกำหนดพื้นที่ โดยคนในชุมชนที่มีจำนวนไม่มาก จัดการได้ง่ายกว่า และเมื่อพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งประสบความสำเร็จแล้ว สามารถแพร่กระจายแนวคิด วิธีการ ก่อให้เกิดการพัฒนาในลักษณะเดียวกันออกไปในวงกว้าง

แนวปฏิบัติในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน
*สร้างเวทีการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นก่อน อาจจะเป็นลักษณะของประชาคมตำบล อำเอ ในลักษณะของร้านค้าชุมชน ตลาดนัดชุมชน ฯลฯ
*วิเคราะห์ศักยภาพ (ขีดความสามารถของท้องถิ่น”
*วางแผนพัฒนาตามแนวทาง “เศรษฐกิจพอเพียง” ตามขั้นตอน “ทฤษฎีใหม่”
*ส่งเสริมการรวมกลุ่มในลักษณะต่าง ๆ เช่น กลุ่มอาชีพ กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มอนุรักษ์ เป็นต้น และสร้างเครือข่ายองค์กรชุมชน
*พัฒนาเทคโนโลยี (ความรู้เกี่ยวกับวิธี) การผลิต การคัดคุณภาพ การเก็บรักษา การแปรรูป การบรรจุหีบห่อ ฯลฯ
*พัฒนาระบบตลาด เช่น ตลาดท้องถิ่น ตลาดปลายทาง เป็นต้น ด้วยการสร้างเครือข่าย ผู้ผลิต เชื่อมโยงผู้ผลิตกับตลาดปลายทาง เช่น ระหว่างกลุ่มผู้ผลิตกับผู้บริโภค กลุ่มผู้ผลิตกับ โรงงานแปรรูป เป็นต้น
*พัฒนากิจกรรมเกี่ยวกับการศึกษา วัฒนธรรม สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
*ทำการวิจัย เพื่อใช้สนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน
สร้างศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจชุมชนแบบเบ็ดเสร็จในระดับอำเภอ/จังหวัด โดยเน้นการมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชนท้องถิ่น
*สร้างหลักสูตรฝึกอบรมการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน พัฒนาสถานที่ดูงาน
*พัฒนาระบบข้อมูลข่าวสาร เพื่อช่วยในการตัดสินใจการทำธุรกิจชุมชน
*เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนออกสู่สังคมภายนอก

วิธีดำเนินการศึกษา

1. ประวัติความเป็นมาในการจัดตั้งกลุ่ม
แต่เดิมชาวบ้านในตำบลท่าเรือมีอาชีพดั้งเดิมที่เป็นอาชีพหลัก คือ การทำนา ว่างเว้นจากการทำนาก็จะรับจ้างและค้าขาย แต่ก็ทำกันเป็นส่วนน้อย ชาวบ้านส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ทำให้เกิดการลักเล็กขโมยน้อยชุกชุม ประมาณปี พ.ศ. 2520 ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคือ ร.ต.ต.สมบูรณ์ เสนะสุขุม ร่วมกับสภาตำบลท่าเรือ จึงกระตุ้นให้ชาวบ้านรวมตัวกันประกอบอาชีพเสริม โดยการประสานงานติดต่อกับ นายเคลือบ ทองอ่อน ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มและชำนาญด้านการทำผลิตภัณฑ์จากย่านลิเพาในตำบลท่าเรือ มาเป็นผู้ทำการสอนการทำผลิตภัณฑ์ย่านลิเพาให้แก่ชาวบ้านผู้สนใจ เมื่อผลิตภัณฑ์เป็นที่ต้องการของท้องตลาด ทำให้ชาวบ้านมีการตื่นตัวและเริ่มทำผลิตภัณฑ์จากย่านลิเพาเป็นอาชีพรอง เพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวมากขึ้น ต่อมาได้มีการสนับสนุนจากกรมพัฒนาชุมชน ในการฝึกอบรมเพิ่มพูนทักษะและรูปแบบของผลิตภัณฑ์ ราษฎรได้ยึดเป็นอาชีพเสริมรายได้ให้แก่ครอบครัวเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

การรวมกลุ่ม
เมื่อชาวบ้านในตำบลมีการทำผลิตภัณฑ์ย่านลิเพาเป็นอาชีพเสริมกันมากขึ้น ทำให้ราคาผลิตภัณฑ์ตกต่ำ เนื่องจากต่างคนต่างขาย ทำให้ถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลางอยู่ตลอดเวลา พัฒนาชุมชนอำเภอเมือง จึงได้ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการรวมตัวจัดตั้งกลุ่มขึ้นมา แต่ในระยะแรกของการจัดตั้งกลุ่ม การดำเนินงานของกลุ่มไม่มีประสิทธิภาพ การบริหารงานล้มเหลวและกลุ่มก็สลายไปในที่สุด
จนมาถึงสมัย นายเสนอ แก้วสม พัฒนากรประจำตำบลได้จัดประชุมชาวบ้านและให้คำแนะนำ ชาวบ้านจึงรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาใหม่ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2531 ซึ่งมีสมาชิกก่อตั้งจำนวน 89 คน โดยวางกฎระเบียบและมีข้อบังคับของกลุ่มที่ชัดเจนให้สมาชิกถือปฏิบัติ และมีคณะกรรมการบริหารกลุ่ม ที่ได้รับการคัดเลือกจากสมาชิกมาบริหารงาน ซึ่งคณะกรรมการจะอยู่ในวาระครั้งละ 2 ปี

วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกลุ่ม
1. เพื่อให้สมาชิกได้รวมตัวกันต่อรองในการซื้อการขาย
2. เพื่อให้ชาวบ้านได้รู้จักการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
3. เพื่อให้สมาชิกรู้จักการดำเนินงานในรูปกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ
4. เพื่อยกระดับรายได้ให้แก่ครอบครัวสมาชิก
5. เพื่อควบคุมราคาผลิตภัณฑ์และลดปัญหาพ่อค้าคนกลางกดราคารับซื้อ
6. เพื่อพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด
7. เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวถึงแหล่งผลิต

วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์ศิลปะหัตถกรรมพื้นบ้านนครศรีธรรมราช
1. เพื่อให้เป็นศูนย์รวมในการรับซื้อและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากหัตถกรรมพื้นบ้านนครศรีธรรมราช
2. เพื่อใช้เป็นสถานที่ดำเนินกิจกรรมของกลุ่มต่าง ๆ ในตำบลท่าเรือ
3. เพื่อเป็นแหล่งซื้อและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องจักรสานย่านลิเพา

เงินลงทุน
ได้ระดมเงินลงทุนในการบริหารงานด้วยการให้สมาชิกลงหุ้นหุ้นละ 100 บาท และในการลงหุ้นนั้นสมาชิกแต่ละครอบครัวมีหุ้นได้ไม่เกิน 10 หุ้น ต่อปี (เพื่อป้องกันนายทุนเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากกลุ่ม) และนอกจากนั้นยังได้ใช้วิธีออมทรัพย์ เข้ามาช่วยในด้านเงินลงทุนด้วย คือการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตขึ้น เพื่อนำเงินที่ได้จากการออมของสมาชิกสมาสมทบเป็นหุ้นใหญ่ของกลุ่ม เพื่อสนับสนุนกลุ่มในการดำเนินการรับซื้อผลิตภัณฑ์จากสมาชิก ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิก 149 คน

ผลประโยชน์ที่กลุ่มและสมาชิกได้รับ
จากยอดจำหน่ายของกลุ่มในแต่ละเดือน กลุ่มมีรายได้ประมาณเดือนละ 100,000 – 150,000 บาท ซึ่งจากยอดจำหน่ายดังกล่าวทำให้กลุ่มมีกำไรแต่ละเดือนโดยเฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท
เมื่อสิ้นปีกลุ่มจะทำงานแสดงกำไร-ขาดทุน และงบดุลทางบัญชีของกลุ่มไว้ ผลกำไรสุทธิที่ได้ กลกุ่มจะกันไว้เป็นทุนต่าง ๆ ตามข้อบังคับกลุ่มดังนี้
ทุนสำรอง 20%
ทุนสาธารณะ 10%
ทุนขยายกิจการ 5%
เฉลี่ย 5% ให้กับสมาชิกที่นำผลิตภัณฑ์มาขายกับกลุ่มและนำผลิตจากกลุ่มไปขาย
ปันผล 60% จะปันผลให้กับสมาชิกที่ลงหุ้นไว้กับกลุ่มตามที่แต่ละคนถืออยู่

งบประมาณที่กลุ่มจักสานได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ในการดำเนินงานของกลุ่ม มีดังนี้
ปี พ.ศ. 2532 จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้สนับสนุนโดยอนุมัติ
เงินเพื่อสร้างอาคารถาวรขึ้น ใช้ชื่อว่า “ศูนย์ศิลปหัตกรรมพื้นบ้านนครศรีธรรมราช” เป็นเงิน 286,318 บาท ได้รับการสนับสนุนจากสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมป์โดยผ่านทางสมาคมสตรีนครศรีธรรมราช เป็นเงิน 50,000 บาท
ได้รับการสนับสนุนจากกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ เป็นเงิน 45,000 บาทปี พ.ศ. 2533 ได้รับการสนับสนุนจากกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อฝึกอบรมสมาชิก กลุ่มในการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ เป็นเงิน 15,000 บาท ได้รับการสนับสนุนจากกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อจัดซื้อวัสดุสำหรับ ฝึกอบรมการทำเครื่องถม เป็นเงิน 15,000 บาท พ.ศ. 2534 ได้รับเงินอนุมัติเพิ่มเติมเพื่อฝึกอบรมเพิ่มพูนทักษะการทำเครื่องถมและ พัฒนารูปแบบ เป็นเงิน 23,000 บาท และทางการพัฒนาชุมชนจังหวัด
ให้การสนับสนุนกลุ่มจักสานย่านลิเพา โดยมอบหมายให้
นางสาวลัดดาวรรณ ชาติสมบูรณ์ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนมาช่วยปฏิบัติงานประจำ ทำหน้าที่เกี่ยวกับการบัญชีและบริหารกลุ่ม
ปี พ.ศ. 2539 – ได้รับเงินสนับสนุนจาก พระบาทสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
ปี พ.ศ. 2540 20,000 บาท
ปัจจุบัน การท่องเที่ยวนครศรีธรรมราช พาณิชย์จังหวัดนครศรีธรรมราช และ
อุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนเผยแพร่
ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม

2. กระบวนการจักสานย่านลิเพา
ประวัติความเป็นมาของย่านลิเพา
ย่านลิเพา เป็นพืชล้มลุกอยู่ในตระกูลเฟิร์น ขึ้นอยู่ตามป่าละเมาะและชายป่า แบ่งได้เป็น
3 ชนิด คือ
1. ย่านลิเพา มีลักษณะคล้ายกับต้นหวาย ลำต้นใหญ่ มีขน และจะขึ้นอยู่ตามเขาโดยทั่วไป
แล้วจะใช้มัดสิ่งของ
2. ย่านลิเพาหยอง มีลักษณะใบหยิกเป็นฝอย ลำต้นเล็กและเรียว เราจะไม่นิยมนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ย่านลิเพา
3. ย่านลิเพาที่ขึ้นอยู่ตามป่าละเมาะหรือชายป่า จะมีลักษณะลำต้นเรียวงาม เปลือกเหนียว เหมาะสำหรับจะนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ย่านลิเพา ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ประเภท
3.1 ประเภทที่มีลำต้นเป็นสีน้ำตาล
3.2 ประเภทที่มีลำต้นสีดำ
โดยทั่วไปประเภทสีน้ำตาลจะมีความยาวและขนาดลำต้นที่โตกว่าสีดำและจะมีคุณสมบัติ
เหนียวกว่า

แหล่งที่มาของย่านลิเพา
โดยทั่วไปย่านลิเพาจะขึ้นอยู่ตามป่าแต่ที่พบมากจะพบมากในเขตทางตอนใต้ของประเทศ เช่น จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา ยะลา ปัตตานี สตูล เป็นต้น

วัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำเครื่องจักสานย่านลิเพา
วัสดุ
ลิเพา มี 2 ชนิด คือ สีดำและน้ำตาล โดยเฉพาะสีน้ำตาลจะมีอยู่
2 แบบ คือ สีน้ำตาลอมแดง และสีน้ำตาลอมเหลือง
ลาน เป็นส่วนใช้ประกอบในการทำลวดลายบริเวณขอบหรือหู
ผลิตภัณฑ์
หวาย ใช้ประกอบเป็นหูหิ้วและขอบโครง เช่น โครงของพัดใบโพธิ์
ไม้ไผ่ ใช้ทำซี่กระเป๋าหรือผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะใช้เป็นเส้นยืนให้เกิด
ลวดลาย เช่น พัด
ไม้เนื้ออ่อน ใช้ประกอบเป็นรูปทรงกระเป๋า หรือผลิตภัณฑ์รูปแบบ
อุปกรณ์
มีด ใช้ในการขูดเส้นของย่านลิเพาเพื่อให้ได้ตามความต้องการ
เหล็กแหลม (เข็ม) ใช้เจาะรูที่โครงกระเป๋าเพื่อเสียบซี่ไม้ไผ่และช่วยในการ
ขัดลาย
แผ่นโลหะเจาะรู ใช้เป็นอุปกรณ์ในการขูดเกลาให้ย่านลิเพาและไม้ไผ่ที่ใช้ในการ
ทำผลิตภัณฑ์มีขนาดเท่าเทียมกัน
ปลอกนิ้ว ทำด้วยผ้าหนา ๆ ใช้สวมนิ้วเวลาขูดย่านลิเพา
กาวลาเท็กซ์ ใช้ทาเส้นลิเพาให้ยึดติดกับโครงแบบที่จะทำหรือใช้ติดยึดส่วน
ประกอบของกระเป๋า
ขั้นตอนและวิธีการผลิตย่านลิเพา
ขั้นตอนที่ 1 การทำโครงสร้างของแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นแบบเบื้องต้นมี 2 วิธี คือ
1. การทำโครงแบบเสียบซี่ ทำได้โดยการนำไม้เนื้ออ่อน (โดยทั่วไปนิยมไม้ตีนเป็ด) มาประกอบเป็นรูปทรงกระเป๋าหรือรูปทรงอื่น ๆ แล้วจึงใช้เหล็กปลายแหลมเจาะรูที่ขอบเนื้อไม้ที่ใช้เป็นแบบ จากนั้นจึงนำไม้ไผ่ซี่เล็ก ๆ ที่เตรียมไว้เสียบเข้าไปในรูที่เจาะไว้ (ขั้นตอนการเสียบซี่ไม้ไผ่ทำได้โดยการนำไม้ไผ่มาลอกเป็นแผ่นบาง ๆ จัดตอกเส้นเล็ก ๆ โดยการเหลาและชักเลียด ขนาดของไม้ไผ่ที่ทำออกมาจะมีผลต่อความสวยงามของผลิตภัณฑ์แตกต่างกันออกไป ถ้าซี่ไม้ไผ่เล็กเมื่อนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์จะสวยงาม แต่ถ้าซี่ไม้ไผ่ใหญ่เมื่อนำมาทำจะทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นดูหยาบ ๆ)
2. การทำโครงด้วยวิธีการกลอง ทำได้โดยการนำด้ายมาผูกเป็นเส้นขนาน 2 เส้น โดยแต่ละเส้นจะผูกเป็นเส้นคู่ ความกว้างของเส้นด้านคู่ขนานที่ผูกขึ้นอยู่กับรูปแบบของผลิตภัณฑ์ว่าขนาดใหญ่หรือเล็ก แล้วจึงนำซี่ไม้ไผ่ที่เตรียมไว้มาวางบนด้ายที่ขึงไว้ทีละซี่โดยแต่ละซี่จะเชือกที่ขึงไว้ขวั้นให้ซี่ไม้ไผ่ยึดติดกับด้ายจนได้ขนาดความยาวที่ต้องการ นำไม้ไผ่เส้นบางความยาวเท่ากับขนาดของกระเป๋ามาทำเป็นขอบนและขอบล่างใช้กาวลาเท็กซ์ทาให้ติดกับซี่ที่กรองไว้เป็นรูปต่าง ๆ ตามต้องการ โดยการทำโคลงด้วยวิธีการกรองจะจำกัดรูปทรงของผลิตภัณฑ์คือ จะเป็นทรงกลมหรือทรงเหลี่ยมธรรมดาเท่านั้น
ขั้นตอนที่ 2 ขั้นตอนการเตรียมย่านลิเพา แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน คือ
1. การปอก เลือกย่านลิเพาที่ได้ขนาดแล้วโดยทั่วไปจะยาวประมาณ 1.5 เมตร นำมาปอก ซึ่งย่านลิเพาเส้นหนึ่งจะปอกออกเป็น 3 ส่วน หรือ 4 ส่วนก็ได้ โดยปอกเอาที่เป็นเลือกมาใช้ทำผลิตภัณฑ์ ส่วนที่เป็นไส้เอาทิ้งไป เพราะไส้ในของย่านลิเพาจะนำมาใช้เป็นประโยชน์ไม่ได้ ส่วนที่นำมาใช้คือส่วนเปลือกเมื่อปอกเสร็จ จึงนำมาขูดด้วยมีดทั้งด้านนอกและด้านในข้างละ 1 ครั้งก่อน
2. การชักเลียด เพื่อให้ขนาดของลิเพาที่ปลอกออกมาแล้วมีขนาดเท่ากัน จึงนำลิเพาที่ปอกเป็นเส้น ๆ แล้วนำไปชักเลียด เพื่อขูดเกลาให้เส้นลิเพามีขนาดเท่า ๆ กัน โดยวัสดุที่นำมาทำเป็นอุปกรณ์การชักเลียด คือ แผ่นโลหะบาง ๆ หรือฝากระป๋องนำมาเจาะไว้เป็นรูเล็ก ๆ ตามขนาดที่ต้องการ นำย่านลิเพาที่เจาะแล้วสอดเข้าไปในรูที่เจาะไว้แล้วดึงผ่านจากโคนถึงปลายก็จะทำให้ขนาดของย่านลิเพาเรียบและมีขนาดเท่ากัน (การทำผลิตภัณฑ์ย่านลิเพานี้จะชักเลียดหรือไม่ก็ได้ แต่ผลที่ออกมาจะแตกต่างกัน การชักเลียดเป็นองค์ประกอบอีกส่วนหนึ่งที่จะทำให้ผลงานออกมาสวยงามและปราณีต)
3. การขูด นำย่านลิเพาที่ผ่านการชักเลียดแล้วมาขูดด้วยมีดคม ๆ ทั้ง 2 ด้าน คือ ขูดทั้งด้านในที่ติดกับไส้และด้านนอก โดยขูดสลับกลับไปกลับมาให้ลิเพาเป็นมันและเหนียว
4. การสาน นำเส้นลิเพาที่ขูดจนเส้นเป็นมันและเหนียวแล้ว นำไปขัดกับตัวกระเป๋าที่เราเสียบซี่ไม้ไผ่เอาไว้เรียบร้อยแล้ว นำย่านลิเพามาขัดหรือยกให้เกิดลวดลาย เช่น ลายลูกแก้ว ลายไทย
ลายคชกริช เป็นต้น แต่ที่นิยมกันมากที่สุดคือลายไทยและลวดลายประยุกต์
ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากย่านลิเพา มี 2 แบบ คือ
1. แบบทึบ ใช้วิธีสวดและพันโดยการพลิกด้านหน้าและด้านหลังของเส้นย่านลิเพาเพื่อทำ
ให้เกิดลวดลาย โดยมีวัสดุเพียงย่านลิเพาและหวาย
2. แบบโปร่ง ใช้วิธีขัดและยกลาย ซึ่งจะมีลักษณะเดียวกับการทอผ้า คือ จะมีเส้นยืนและเส้นนอน

วิธีการดูแลรักษาผลิตภัณฑ์ที่ทำจากย่านลิเพา
1. อย่าให้ถูกแสงแดดจัด ๆ เป็นเวลานาน จะทำให้ผลิตภัณฑ์ดูเก่าเร็ว
2. ถ้าผลิตภัณฑ์ชำรุดโดยมีเส้นลิเพาหลุดออกมาให้ใช้กาวลาเท็กซ์ทาที่ลิเพาเส้นที่หลุดปิด
ทับไว้ตามเดิม แล้วทาแล็คเกอร์ทับอีกครั้ง
3. ผลิตภัณฑ์ที่เก็บไว้นาน จะดูเก่าให้ทำความสะอาดฝุ่นที่ติดหรือคราบสกปรกออกให้หมดโดยการเอาผ้าชุบน้ำบิดให้พอหมาด ๆ แล้วเช็ดที่ตัวผลิตภัณฑ์ และทาแล็คเกอร์ทับอีกครั้งหนึ่ง
4. อย่ากระแทกผลิตภัณฑ์แรง ๆ หรือวางของหนัก ๆ ทับ เพราะจะทำให้ผลิตภัณฑ์ชำรุดและใช้ได้ไม่นาน
จากการศึกษาการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มจักสานย่านลิเพาของศูนย์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน พบว่าประชาชนในตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นชุมชนที่มีแบบความสัมพันธ์ระหว่างกันในชุมชนแบบใกล้ชิด คนในชุมชนรู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี มีโอกาสช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งมีปัจจัยที่มีผลต่อสภาพสังคมหลายประการด้วยกัน คือ
1. สภาพทางกายของชุมชน ชุมชนในตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นชุมชนที่อยู่ในที่ราบ มีช่องทางในการทำมาหากินไม่มาก โอกาสที่จะขัดสนในการครองชีพจึง มีเสมอ การช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนแก่กันซึ่งมีสูง ความผูกพันธ์ของคนในชุมชนมีมากและเกิดขึ้นอยู่เสมอ
2. การประกอบอาชีพในชุมชน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาและหาปลาขาย เมื่อมีเวลาว่างจึงมีการรวมตัวกัน
3. สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่มน้ำท่วมขัง การสร้างที่อยู่อาศัย และที่ทำกินจึงกระตุกตัวเป็นหย่อม ๆ ทำให้คนในชุมชนมีความใกล้ชิด เมื่อมีเวลาว่างจากการทำงานก็จะรวมกลุ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องต่าง ๆ กันเสมอ และมีโอกาสในการทำกิจกรรมช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
4. ลักษณะประชากร คนในชุมชนส่วนใหญ่จะมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดโดยระบบญาติ มีลักษณะเอื้ออาทรกัน
วิธีการถ่ายทอด
1. เรียนรู้ต่อจากสมาชิกในกลุ่มที่มีความชำนาญอยู่แล้ว
2. ประชุมปรึกษาหารือ เรียนรู้ร่วมกัน
3. วิทยากรจากพัฒนาชุมชน การท่องเที่ยวจังหวัดมาให้ความรู้ถ่ายทอดวิทยาการ รูปแบบการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ เช่น ลวดลาย
4. สร้างเครือข่ายโดยถ่ายทอดให้เยาวชนตามโรงเรียนต่าง ๆ เช่น โรงเรียนชุมชนวัดหมน โรงเรียนวัดจังหูน และโรงเรียนทางพูนวิทยาคาร
ศักยภาพกลุ่มจักสานย่านลิเพา ของตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงเกิดจากความเต็มใจตั้งใจของสมาชิกที่รวมกลุ่มเรียนรู้ ทุ่มเทให้กับความร่วมมือกับกลุ่ม รวมทั้งวิทยากร และส่วนกรรมการ องค์การต่าง ๆ ที่เข้ามาให้การสนับสนุนทำให้ผลงานของกลุ่มเป็นที่ยอมรับและการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มมีมากขึ้น

การพัฒนาของสมาชิก
การพัฒนาของสมาชิกหรือการขยายตัวของสมาชิกจากเดิมเริ่ม 10 กว่าคน ต่อมาได้มีการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ
1. กลุ่มหมู่ 5 ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
2. กลุ่มหมู่ 6 ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
3. กลุ่มหมู่ 8 ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
โดยแต่ละกลุ่มจะมีการสานสัมพันธ์เครือข่ายพูดคุยแลกเปลี่ยนไม่ว่าจะเรื่อง วัตถุดิบ การออกแบบ การพัฒนาลวดลาย การผลิต การจำหน่าย รวมถึงปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ กันอยู่เสมอ

การพัฒนาคุณภาพของการจักสานย่านลิเพา
การจักสานย่านลิเพามักมีลวดลายใหม่ ๆ ออกมาเสมอ เพื่อเป็นปัจจัยในการดึงความสนใจของผู้บริโภค รวมทั้งการออกแบบเป็นสิ่งของเครื่องใช้อื่น ๆ นอกจากกระเป๋า เพื่อให้ได้ตลาดมากยิ่งขึ้น สำหรับกระเป๋าได้มีการพัฒนารูปแบบเป็นกระเป๋าถือเหลี่ยมทอง หรือประกอบถมเงินหรือถมทอง สำหรับการออกแบบลวดลายได้จากการไปศึกษาดูงานและส่วนหนึ่งได้จากพัฒนากรชุมชนเข้ามาช่วยเหลือ จนกลายเป็นสินค้าที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และเป็นสินค้าที่เชิดหน้าชูตาอย่างหนึ่งของชาวนครศรีธรรมราช
วิเคราะห์สถานการณ์กลุ่มจักสานย่านลิเพาศูนย์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านนครศรีธรรมราช ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
1. สถานการณ์ด้านการตลาด
1.1 ตลาดตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกระเป๋าย่านลิเพา
2. สถานการณ์ด้านการผลิตผลิตภัณฑ์
2.1 ลักษณะสินค้ามีหลายรูปแบบทั้งหวี ที่คาดผม กรอบรูป กำไล และกระเป๋ารูป
แบบต่าง ๆ
2.2 ทุกชิ้นที่ออกสู่ตลาดต้องผ่านการคัดกรองจากกรรมการก่อน
3. สถานการณ์ด้านการจำหน่าย
3.1 จำหน่ายที่ศูนย์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านนครศรีธรรมราช ร้านค้า สโมสรหน้าเมือง
นครศรีธรรมราช จำหน่ายที่ของระลึกวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร โรงแรม ห้างสรรพสินค้าจังหวัดต่าง ๆ
3.2 จำหน่ายในงานออกร้านต่าง ๆ เช่น งานวันสตรีสากล งานประจำอำเภอ งาน
ประจำจังหวัดต่าง ๆ
3.3 จำหน่ายในต่างประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น และประเภททวีปยุโรป โดยได้รับการ
อุดหนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์และองค์การบริหารส่วนตำบล
3.4 สั่งซื้อทางโทรศัพท์ที่เบอร์ 075-670354 หรือ 084-0546832
3.5 ทางอินเตอร์เน็ต

กลยุทธ์ด้านราคา
เนื่องจากลูกค้ามีทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกวัย จึงต้องผลิตราคาให้ทุกกลุ่ม ทุกอาชีพและทุกวัย
สามารซื้อได้ โดยมีตั้งแต่ 30 บาท – 50,000 บาท

กลยุทธ์ด้านช่องทางจำหน่าย
1. จำหน่ายตามร้านค้าทั่วไป ห้างสรรพสินค้า โรงแรมในจังหวัด ต่างจังหวัดและกรุงเทพมหานคร
2. ร้านสินค้า OTOP ในจังหวัดและต่างจังหวัด
3. พัฒนาพนักงานขายให้บริการลูกค้าอย่างประทับใจทั้งบุคลิก มีกลยุทธ์การขายที่ดึงดูดใจลูกค้า

กลยุทธ์ด้านส่งเสริมการขาย
1. ได้รับการสนับสนุนประชาสัมพันธ์การขายโดยการท่องเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราช พาณิชย์จังหวัดนครศรีธรรมราช อุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์ท้องถิ่น
2. แจกแผ่นพับและนามบัตร
3. ลงเว๊ปไซด์


การวิเคราะห์ SWOT
วิเคราะห์จุดแข็ง
- การรวมกลุ่มอาชีพเกิดจากการเรียนรู้ และเป็นไปตามความต้องการของาชาวบ้านอย่าง แท้จริง
- เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมอย่างสม่ำเสมอ
- กลุ่มสตรีตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป จะชอบกระเป๋าแบบหรูเป็นถมเงินหรือถมทอง
- จุดวางจำหน่ายมีตลาดค่อนข้างมาก
- สามารถขยายตลาดต่อไปได้อีกในอนาคต
- เป็นศูนย์ชุมชนเป็นแบบอย่างแก่กลุ่มอื่น
- ผลิตภัณฑ์ย่านลิเพาก่อให้เกิดรายได้ที่มั่นคง มีระเบียบข้อบังคับของกลุ่มอย่างชัดเจน คาดว่าเป็นการประกอบอาชีพที่ยั่งยืน
วิเคราะห์จุดอ่อน
- อุปกรณ์การผลิตยังไม่เพียงพอ
- วัตถุดิบมีราคาสูงขึ้น
- วัตถุดิบหายากขึ้นและอาจหมดไปภายใน 15 – 20 ปี
วิเคราะห์ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย
- เด็กและเยาวชนจะนิยมชอบกำไล กิ๊ป และที่คาดผม ราคาจึงต้องย่อมเยาว์
- กระเป๋า ผู้นิยมจะเป็นผู้มีอายุตั้งแต่ 30 ปี ขึ้นไป
- ลูกค้ามีฐานะแตกต่างกัน จึงต้องมีผลิตภัณฑ์หลายระดับให้เลือก
โอกาส
- ทางด้านเศรษฐกิจ ที่จะนำสินค้าทางการเกษตรไม่เพิ่มมูลค่า ส่งผลทำให้เกิดรายได้เสริมแก่วิสาหกิจชุมชน
- ทางด้านสังคม มีวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับการทำงานเป็นกลุ่ม และกลุ่มได้ดำเนินมานาน มีความเข้มแข็งที่จะผลักดันโครงการ
- ทางด้านการเมือง หน่วยงานของรัฐกำหนดเป็นโยบายสนับสนุนโครงการอย่างชัดเจน
- ทางด้านเทคโนโลยี มีการสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีจากสถาบันที่เกี่ยวข้อง
- ทางด้านสิ่งแวดล้อม ประชาชนทั่วไปมีความรู้สึกว่าสินค้าโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์มีส่วนช่วยทางด้านสิ่งแวดล้อม
จุดแข็ง
- สินค้าที่นำมาเข้าโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าเกษตรที่ทำให้เกิดการสร้างมูลค่า
- ผู้ประกอบการมีความพร้อมทางด้านวุฒิภาวะ ประสบการณ์ทำงานและเวลา
- การดำเนินงาน กิจการ การจัดการทั่วไปและทรัพยากรมนุษย์ การตลาด การผลิต และการเงินมีความเข้มแข็งในระดับหนึ่ง
- ความสามารถทางการจัดการ ทางด้านการวางแผน และการควบคุมมีความเข้มแข็ง
อย่างไรก็ตาม วิสาหกิจชุมชนต้องการสนับสนุนเพื่อแก้ไขอุปสรรค และจุดอ่อนของวิสาหกิจชุมชน ซึ่งการแก้ไขดังกล่าวเริ่มจากผู้ประกอบการเอง และหน่วยงานของรัฐ ซึ่งสนับสนุน อุปสรรค และจุดอ่อนที่ควรพิจารณา ดังนี้
อุปสรรค
-ทางด้านเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการยังมีความคิดว่าโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์เป็นเพียงโครงการสร้างรายได้เสริม นอกจากนี้สินค้ายังมีลักษณะไม่แตกต่างกัน และลอกเลียนแบบได้ง่าย
- ทางด้านสังคม ผู้ประกอบการมาจากสังคมเกษตรกรรม ทำให้ขาดความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจ
- ทางด้านการเมือง ผู้ประกอบการยังขาดข้อมูลและความไว้วางใจหน่วยงานของรัฐ ในขณะที่หน่วยงานของรัฐขาดงบประมาณ บุคลากรที่มีความรู้ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ และหน่วยงานของรัฐยังมีทัศนคติที่ขัดแย้งกันทางด้านความสามารถทางการดำเนินงาน และปัญหาการดำเนินงาน
- ทางด้านเทคโนโลยี ผู้ประกอบการขาดสารสนเทศ และข่าวสาร นอกจากนี้ยังขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือและทักษะการผลิต
- ทางด้านสิ่งแวดล้อม วัตถุดิบลดลง และขาดความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของการผลิต คือสิ่งแวดล้อม
จุดอ่อน
- สินค้าของชุมชนมีหลายชนิดทำให้ขาดความสนใจในการสร้างจุดเด่นของสินค้า
- ผู้ประกอบการขาดประสบการณ์ทางด้านธุรกิจ
- การดำเนินงานกิจการ การจัดการทั่วไปและทรัพยากรมนุษย์ การตลาด การผลิต และการเงินมีจุดบกพร่องในบางประการ ซึ่งหน่วยงานของรัฐประเมินว่าประเด็นดังกล่าว ควรต้องมีการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินงาน
- ความสามารถทางการจัดการ วิสาหกิจชุมชนยอมรับว่ามีจุดบกพร่องบางประการทางด้านการวางแผนและการควบคุม ซึ่งหน่วยงานของรัฐประเมินความสามารถทางด้านการจัดการของวิสาหกิจชุมชนค่อนข้างน้อย และเป็นแนวทางในการพัฒนาศักยภาพการจัดการของหน่วยงานรัฐที่เข้ามาช่วยสนับสนุน

บทที่ 4
สรุป อภิปรายผลและข้อเสนอแนะ

สรุป
การศึกษาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ในภาคใต้ ภายใต้โครงการการจัดการวิสาหกิจชุมชน
สรุปผลการศึกษาจึงได้ทำเป็น 2 กลุ่ม คือ
กลุ่มแรก เป็นข้อมูลจากวิสาหกิจชุมชน แบ่งเป็น 5 ส่วน คือ
1. ลักษณะกลุ่มวิสาหกิจชุมชน
2. ลักษณะผู้บริหารวิสาหกิจชุมชน
3. สภาพแวดล้อมภายนอกของวิสาหกิจชุมชน
4. สภาพแวดล้อมภายในของวิสาหกิจชุมชน
5. ปัญหาในการดำเนินการ
กลุ่มที่ 2 เป็นข้อมูลจากผู้มีส่วนเสียกับวิสาหกิจชุมชน แบ่งเป็น 4 ส่วน คือ
1. ลักษณะกลุ่มวิสาหกิจชุมชน
2. สภาพแวดล้อมภายในของวิสาหกิจชุมชน
3. สภาพแวดล้อมภายนอกของวิสาหกิจชุมชน
4. ปัญหาการดำเนินการของวิสาหกิจชุมชน
ซึ่งการนำเสนอผลการศึกษาจะเป็นการเสนอในภาพรวมของวิสาหกิจชุมชนในภาคใต้
สภาพแวดล้อมทางธุรกิจของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์
จากการศึกษาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน พบว่า สภาพแวดล้อม
ภายนอกมีลักษณะดังนี้
ร้อยละ 80.0 ผู้บริหารกลุ่มไม่ได้รับผลตอบแทนในฐานะผู้บริหารงาน ร้อยละ 70 (จะได้รับเงินตามงานที่ทำในฐานะสมาชิกกลุ่มเท่านั้น) สถานที่ทำการของกลุ่ม จะใช้บริเวณบ้านของผู้นำ (ผู้ประกอบการ) ร้อยละ 54.1 และไม่มีเครือข่ายร้อยละ 49.4
การตลาด วิสาหกิจชุมชนมีความเห็ฯว่าสินค้าของตนเองมีลักษณะแตกต่างจากลุ่มอื่นอย่างชัดเจน ร้อยละ 65.9 การกำหนดราคาสินค้าไม่แตกต่างจากกลุ่มอื่นร้อยละ 68.8 ช่องทางการจัดจำหน่ายที่ใช้มีพ่อค้ามารับ ร้อยละ 88.2 และลูกค้าของวิสาหกิจชุมชนจะเป็นลูกค้าในจังหวัดใกล้เคียง ร้อยละ 86.2 หรือลูกค้าในจังหวัด ร้อยละ 82.9
การผลิต วิสาหกิจชุมชนใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ร้อยละ 73.5 โดยสมาชิกในกลุ่มจะจัดหาวัตถุดิบร้อยละ 88.2 สามารถผลิตสินค้าได้เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า ร้อยละ 69.4 มีการตรวจสอบคุณภาพสินค้า โดยกำหนดผู้รับผิดชอบ ร้อยละ 40 หรือมอบหมายให้สมาชิกเป็นผู้ตรวจสอบเอง ร้อยละ 34.7
การเงิน วิสาหกิจชุมชนให้รูปแบบการจัดหาแหล่งเงินจากหน่วยงานของรัฐ ร้อยละ 33.5 การผสมผสานระหว่างเงินทุนของกลุ่มและหน่วยงานรัฐ ร้อยละ 31.2 และจากสมาชิกเอง ร้อยละ 26.5
ความสามารถทางการจัดการ ผู้ประกอบการประเมินความสามารถทางการจัดการทางด้านการวางแผน และการควบคุม ดังนี้
การวางแผน
1. การจัดการทั่วไป และทรัพยากรมนุษย์ วิสาหกิจชุมชนมีการวางแผนเกี่ยวกับการทำงานในกลุ่มอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 3.88) การวางแผนจ่ายผลตอบทนในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 3.80) การจัดหาความร่วมมือกับกลุ่มชนอื่น ๆ อยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 2.62) และการวางแผนหาสมาชิกเข้าร่วมในกลุ่มอยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 2.59)
2. การตลาด วิสาหกิจชุมชนมีการวางแผนเกี่ยวกับการวางแผนการจัดจำหน่ายอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 3.61) การจัดหาอุปกรณ์การจัดจำหน่ายสินค้าอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 3.54) และมีการวางแผนการประชาสัมพันธ์อยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 3.08)
3. การผลิต วิสาหกิจชุมชนมีการวางแผนเกี่ยวกับการวางแผนการผลิตสินค้าของกลุ่มอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 3.85) การวางแผนการจัดหาวัตถุดิบ อยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 3.84) การวางแผนการใช้วัตถุดิบอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 3.93) และการจัดหาอุปกรณ์การผลิตอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 3.69)
4. การเงิน วิสาหกิจชุมชนมีการวางแผนเกี่ยวกับการจัดหาเงินทุน อยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 3.02)
5. การควบคุม วิสาหกิจชุมชน มีการควบคุมการทำงานอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 3.92) พร้อมมีการวางระบบการควบคุมทางด้านการเงินโดยมีระบบการจัดเก็บรักษาเงินอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 3.55) และการจัดทำรายงานทางการเงิน อยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 3.28)
ปัญหาการดำเนินการวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการประเมินสภาพปัญหาของการดำเนินการวิสาหกิจชุมชนที่เชื่อมโยงกับกิจกรรมการจัดการ ดังนี้
1. การจัดการทั่วไปและทรัพยากรมนุษย์ วิสาหกิจชุมชนมีความเห็นว่า การจัดการทั่วไปและทรัพยากรมนุษย์ไม่เป็นปัญหาทางด้านความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานทางด้านไฟฟ้า น้ำ และโทรศัพท์ ความสามารถ ความชำนาญของสมาชิก การรวมกลุ่มกันในชุมชน การแบ่งงานกันภายในกลุ่ม การร่วมมือของสมาชิก และความเหมาะสมของสถานที่ แต่ยอมรับว่าการหาสมาชิกใหม่มาร่วมงานยังเป็นปัญหา
2. การตลาด วิสาหกิจชุมชนมีความเห็นว่า การตลาดไม่เป็นปัญหาการดำเนินงานเกี่ยวกับการตั้งราคาสินค้า การคิดต้นทุนสินค้า การติดต่อกับลูกค้า ความคงทนของสินค้า การออกแบบสินค้า การประชาสัมพันธ์ การหาบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม และการถูกลอกเลียนแบบสินค้า
3. การผลิต วิสาหกิจชุมชนมีความเห็นว่า การผลิตไม่เป็นปัญหาการดำเนินเกี่ยวกับการติดต่อกับผู้จัดส่งวัตถุดิบ การปรับปรุงคุณภาพสินค้า การจัดหาเทคโนโลยี การผลิต และการผลิตที่เพียงพอกับความต้องการแต่ยอมรับว่าการผลิตโดยรวมยังเป็นปัญหาอยู่
4. การเงิน วิสาหกิจชุมชนมีความเห็นว่าการจัดหาแหล่งเงินเป็นปัญหาการดำเนินงาน
โครงสร้างพื้นฐาน สถานประกอบการสามารถเข้าถึงได้อย่างดี มีความสะดวกร้อยละ 87.1 และมีความพร้อมทางด้านสาธารณูปโภคทั้งระบบน้ำ ไฟฟ้า และโทรศัพท์ ร้อยละ 90.0
การสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ วิสาหกิจชุมชนมีความเห็นว่าหน่วยงานของรัฐเข้ามามีบทบาทอย่างมากทางด้านการให้คำปรึกษา การรับรองสินค้า การจัดอบรม การจัดนิทรรศการ และการหาตลาด หน่วยงานของรัฐมีบทบาทในระดับปานกลางถึงน้อย การแนะนำ การผลิต สนับสนุนให้มีการจัดการอย่างครบวงจร การหาผู้เชี่ยวชาญ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การหาเงินทุนให้ การหาอุปกรณ์การผลิต การหาเครือข่าย การออกแบบผลิตภัณฑ์ การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และการหาวัตถุดิบ
การจัดการทั่วไปและทรัพยากรมนุษย์ วิสาหกิจชุมชนมีรูปแบบการจัดตั้งธุรกิจโดยการรวมกลุ่ม ซึ่งมักจะเป็นการรวมตัวของเพื่อนบ้าน ร้อยละ 58.2 หรือเป็นการรวมกลุ่มที่มีพัฒนากรเป็นผู้ประสานงานร้อยละ 40.0 จำนวนบุคลากรในองค์กรมีจำนวน 10 – 20 ครัวเรือน ร้อยละ 41.8 ซึ่งมีสมาชิกที่เข้าร่วมทำงานไม่เกิน 30 คน ร้อยละ 63.0 ระยะเวลากรจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมานานกว่า 5 ปี ร้อยละ 55.3 มีจำนวนผู้บริหารมากกว่า 5 คน ร้อยละ 55.9 มีการแบ่งงานและการมอบหมายงานอย่างชัดเจน ร้อยละ 36.5
อภิปรายผล

การป้องกันหอยเชอรี่

หอยเชอรี่ หอยโข่งอเมริกาใต้ หรือหอยเป๋าฮื้อน้ำจืด มีลักษณะเหมือนหอยโข่งแต่ตัวโตกว่า จากการดูด้วยตาเปล่าสามารถแบ่งหอยเชอรี่ ได้ 2 พวก คือ พวกที่มีเปลือกสีเหลืองปนน้ำตาล เนื้อและหนวดสีเหลืองและพวกมีเปลือกสีเขียวเข็มปนดำและมีสีดำจาง ๆ พาดตามความยาว เนื้อและหนวดสีน้ำตาลอ่อน
หอยเชอรี่ เจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ลูกหอยอายุเพียง 2-3 เดือน จะจับคู่ผสมพันธุ์ได้ตลอดเวลา หลังจากผสมพันธุ์ได้ 1-2 วัน ตัวเมียจะวางไข่ในเวลากลางคืน โดยคลานไปวางไข่ตามที่แห้งเหนือน้ำ เช่นตามกิ่งไม้ ต้นหญ้าริมน้ำ โคนต้นไม้ริมน้ำข้าง ๆ คันนา และตามต้นข้าวในนา ไข่มีสีชมพูเกาะติดกันเป็นกลุ่มยาว 2-3 นิ้ว แต่ละกลุ่มประกอบด้วยไข่เป็นฟองเล็ก ๆ เรียงตัวเป็นระเบียบสวยงามประมาณ 388-3,000 ฟอง ไข่จะผักออกเป็นตัวหอยภายใน 7-12 วัน หลังวางไข่

หอยเชอรี่กินพืชที่มีลักษณะนุ่มได้เกือบทุกชนิด เช่นสาหร่าย ผักบุ้ง ผักกระเฉด แหน ตัวกล้าข้าว ซากพืชน้ำ และซากสัตว์ที่เน่าเปื่อยในน้ำ โดยเฉพาะต้นข้าวในระยะกล้าและที่ปักดำใหม่ ๆ ไปจนถึงระยะแตกกอหอยเชอรี่จะชอบกินต้นข้าวในระยะกล้าที่มีอายุประมาณ 10 วัน มากที่สุด โดยเริ่มกันส่วนโคนต้นที่อยู่ใต้น้ำเหนือจากพื้นดิน 1-11/2 นิ้ว จากนั้นกินส่วนใบที่ลอยน้ำจนหมดใช้เวลากินทั้งต้นทั้งใบนานประมาณ 1-2 นาที


หอยเชอรี่เป็นสัตว์ศัตรูข้าวที่สำคัญมาก สามารถเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ทนทาต่อความแห้งแล้งและยังลอยตัวไปตามน้ำไหลได้อีกด้วย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องป้องกันกำจัดหอยเชอรี่อย่างต่อเนื่อง และจะให้ได้ผลดียิ่งขึ้นควรทำหลาย ๆ วิธีผสมผสานกัน ดังนี้
1. วิธีกล
เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลดีที่สุด ประหยัด ปลอดภัย และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
1.1 การจัดเก็บทำลาย เมื่อพบตัวหอยและไข่ให้เก็บทำลายทันที

1.2 การดักและกั้น
- ตามทางน้ำผ่าน ให้ใช้สิ่งกีดขวางตาข่ายเฝือก ภาชนะดักปลา ดักจับหอยเชอรี่
- ลูกหอยที่ฟักใหม่ ๆ สามารถลอยน้ำได้ ควรใช้ตาขายถี่ ๆ กั้นขณะสูบน้ำเข้าข้าว หรือกั้นบริเวณทางน้ำไหล
1.3 การใช้ไม้หลักปักในนาข้าว
การล่อให้หอยมาวางไข่โดยใช้หลักปักในที่ลุ่มหรือทางที่หอยผ่าน เมื่อหอยเข้ามาวางไข่ตามหลักที่ปักไว้ทำให้ง่ายต่อการเก็บไข่หอยไปทำลาย
1.4 การใช้เหยื่อล่อ พืชทุกชนิดใช้เป็นเหยื่อล่อหอยเชอรี่ได้ หอยจะเข้ามากินและหลบซ่อนตัวพืชที่หอยชอบกิน เช่น ใบผัก ใบมันเทศ ใบมันสำปะหลัง ใบมะละกอ หรือพืชอื่น ๆ ที่มียางขาวคล้ายน้ำนม
2. โดยชีววิธี
2.1 ใช้ศัตรูธรรมชาติช่วยกันกำจัด
ฝูงเป็ดเก็บกินลูกหอย
2.2 อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ
โดยปกติในธรรมชาติมีศัตรูหอยเชอรี่อยู่หลายชนิดที่ควรอนุรักษ์ เช่น นกกระยาง นกกระปูด นกอีลุ้ม นกปากห่าง และสัตว์ป่าบางชนิด ซึ่งสัตว์เหล่านี้นอกจากจะช่วยทำลายหอบเชอรี่แล้ว ยังทำให้ธรรมชาติสวยงามอีกด้วย
3. การใช้สารเคมี
กรณีที่หอยระบาดมาก หรือในแหล่งที่ไม่สามารกำจัดด้วยวิธีการอื่นได้ สารเคมียังมีความจำเป็น แต่มีข้อควรระวังเรื่องเปลือกหอยที่ตายอาจจะบาดเท้าผู้ที่ลงไปปฏิบัติงานบริเวณนั้นได้
3.1 สารคอปเปอร์ซัลเฟต (จุนสี) ชนิดผงสีฟ้าเป็นสารที่ใช้ป้องกันและกำจัดหอยเชอรี่ได้เป็นอย่างดีมีประสิทธิภาพสูง ราคาถูกและไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้สารนี้ในอัตรา 1 ก.ก./ไร่ ละลายน้ำแล้วฉีดพ่นด้วยเครื่องพ่นสารเคมี หรือรดด้วยบัวให้ทั่วแปลงนาที่มีระดับน้ำสูงไม่เกิน 5 ซ.ม. สามารถกำจัดหอยเชอรี่ได้ภายใน 24 ช.ม.
3.2 สารเคมีนิโคลซาไมด์ 20 % อีซี (ไบลูไซด์) อัตรา 160 ซี.ซี./ไร่ ผสมกันน้ำแล้วฉีดพ่นในนาข้าวที่มีระดับน้ำสูงไม่เกิน 5 ซ.ม.
3.3 สารเคมีเมทิลดีไฮด์ ชื่อการค้า แองโกลสลัก เป็นเหยื่อพิษสำเร็จรูปใช้หว่านในนาข้าว อัตรา 0.5 ก.ก./ไร่

เนื้อหอยเชอรี่มีโปรตีนสูงถึง 34-53 เปอร์เซ็นต์ไขมัน 1.66 เปอร์เซ็นต์ ใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่างหรือทำน้ำปลาจากเนื้อหอยเชอรี่ ใช้ทำเป็นอาหารสัตว์เลี้ยง เช่น เป็ด ไก่ สุกร เป็นต้น เปลือกก็สามารถปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดินได้ ตัวหอยทั้งเปลือกถ้านำไปฝั่งบริเวณทรงพุ่มไม้ผล เมื่อเน่าเปื่อยก็จะเป็นปุ๋ยทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตเร็ว และได้ผลผลิตดี
ไม่ควรบริโภคเนื้อหอยเชอรี่ในบริเวณที่อยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยน้ำเสีย หรือบริเวณพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช